ร้านยาเป็นหน่วยหนึ่งของระบบสุขภาพที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ด้านการกระจายยาเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญเปรียบเสมือนเป็น “ที่พึ่งด้านสุขภาพของชุมชน” เป็นทางเลือกหนึ่งของประชาชนในการใช้บริการเมื่อมีอาการหรือเจ็บป่วยเบื้องต้น (common illness) นอกจากนี้ ร้านยายังเป็นแหล่งที่สามารถให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพตนเอง การแนะนำและส่งต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามความเหมาะสม ประเทศไทยมีร้านยาจำนวนมาก และกระจายในเขตต่างๆทั่วประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุข ส่วนใหญ่ร้านยาจะเปิดบริการช่วงเวลายาวและเปิดทุกวัน ยกเว้นบางร้าน อาจ เลือกปิดเป็นบางวัน ประชาชนจึงเข้าถึงบริการได้ง่าย ประกอบกับร้านยาเป็นหน่วยหนึ่งในภาคเอกชน การบริหารจัดการหรือการดำเนินการต่าง ๆ จึงสามารถช่วยประหยัดงบประมาณการคลังของรัฐในการดูแลสุขภาพของคนไทยซึ่งมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอดได้
ในปี 2545-2546 มีการเสนอ (ร่าง) พรบ. ยา เพื่อปรับปรุง พรบ. ยา (พศ. 2510)เดิมที่ค่อนข้างล้าสมัย ใน (ร่าง)พรบ.ยาใหม่นี้มีมาตราหนึ่งที่กำหนดให้แพทย์เขียนใบสั่งยาให้ผู้ป่วยออกไปซื้อยาที่ร้านยา เพื่อแยกการตรวจรักษาออกจากการขายยา ให้มีความทันสมัยเทียบเคียงต่างประเทศ จุดที่ถูกโจมตีหนักที่สุดจากวิชาชีพใกล้เคียงที่เกี่ยวข้อง คือคุณภาพการให้บริการของร้านยามีความแตกต่างกัน ไม่มีมาตรฐาน และส่วนใหญ่ไม่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติการ แม้ในขณะนั้นจะมีร้านยาที่เภสัชกรเป็นเจ้าของและอยู่ปฏิบัติการแล้วแต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก ภาพลักษณ์ของร้านยาไม่ดีนักในสายตาของสังคมโดยรวม ทำให้สภาเภสัชกรรมในวาระนั้น(พศ. 2545-2547) ต้องพิจารณาเรื่องการพัฒนามาตรฐานร้านยา เพื่อยกระดับร้านยาโดยรวมให้ดีขึ้น ประกอบกับในระยะนั้นกระแสการพัฒนาคุณภาพเริ่มแรงขึ้นไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาล หรือโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นต้นปี 2545 สภาเภสัชกรรมจึงได้จัด "โครงการพัฒนาและรับรองคุณภาพร้านยา"ขึ้น โดยมีแนวคิดมาจากรูปแบบร้านยาที่พึงประสงค์และเป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อพัฒนาร้านยาให้สามารถเป็นหน่วยบริการหนึ่งในเครือข่ายระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ภายใต้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ตามความจำเป็น เกณฑ์ในการประเมินรับรองคุณภาพร้านยาประกอบด้วย 5 ด้านด้วยกัน ด้านสถานที่ อุปกรณ์ บุคลากร การให้บริการเภสัชกรรมที่ดี การปฏิบัติตามกฎระเบียบ ตลอดจนการมีจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ซึ่งผู้ยกร่างมาตรฐานและแนวทางการประเมินซึ่งยังใช้ติดต่อกันมาทุกวันนี้ คือ ผศ.ดร.มังกร ประพันธ์วัฒนะ ผู้ล่วงลับไปแล้ว มาตรฐานนี้มุ่งให้มีการให้บริบาลทางเภสัชกรรมเกิดขึ้นในร้านยา เพราะทุกคนตระหนักว่าร้านยาเป็นด่านหน้าของการให้บริการประชาชน ควรจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ร้านยาให้เป็นสถานปฏิบัติวิชาชีพเภสัชกรรม มากกว่าการขายยาทั่วไป ในช่วงเวลานั้นแม้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเริ่มต้นมาได้ระยะหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ประชาชนก็ยังนิยมมาใช้บริการร้านยาเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้นสูงถึง 60-80 % เภสัชกรในร้านยาจึงควรใช้ความรู้ในเชิงวิชาชีพให้บริการแก่ประชาชนผู้มาพึ่งพาร้านยา และเปลี่ยนทัศนคติของผู้มาใช้บริการว่ามิใช่เพียงการมาซื้อยา แต่เป็นการไปปรึกษาขอคำแนะนำในเรื่องการดูแลสุขภาพและการใช้ยาที่ถูกต้องจากเภสัชกร
เมื่อเริ่มประเมินคุณภาพร้านยาในปี พ.ศ.2546 มีร้านยาสมัครเข้ามาทั้งหมด 111 ร้าน มีการทำความเข้าใจกันเรื่องมาตรฐานแต่ละข้อ ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจกันมากคือเรื่องการประเมินและรับรองคุณภาพ ไม่ใช่เรื่องการสอบได้หรือสอบตก แต่เน้นเรื่องการเรียนรู้และการพัฒนามากกว่า การให้บริการทางวิชาชีพให้ผู้มารับบริการตระหนักในบทบาทของเภสัชกรในการที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ในครั้งนั้นมีร้านที่ได้รับการประเมินและผ่านการรับรองเพียง 26 ร้าน ซึ่งได้เข้ารับประทานโล่รางวัลและเกียรติบัตรรับรองคุณภาพจาก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2546 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการมีร้านยาคุณภาพในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาต่อมา การดำเนินการเรื่องร้านยาคุณภาพ ยังไปไม่ได้ดีนัก เพราะมีการเข้าใจผิดว่าจะทำให้มีร้านยา 2 มาตรฐาน บ้างก็ว่าพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานแล้วไม่ได้มีอะไรดีขึ้นกว่าร้านยาทั่วไป จะทำไปทำไม ก็เป็นเสมือนไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่ ในช่วงนั้นสภาเภสัชกรรมได้มีการประสานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จะให้มีการทำโครงการบางอย่างร่วมกับร้านยาคุณภาพ แต่ถูกติงว่าจำนวนร้านยาคุณภาพยังมีไม่มากพอ เภสัชกรยังไม่ไปปฏิบัติการในร้านยาส่วนใหญ่ ในช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มมีร้านยาเครือข่ายจากต่างประเทศเข้ามาเปิดสาขาและขยายอย่างรวดเร็ว และได้มาขอรับการประเมินและรับรองจากสภาเภสัชกรรมเพื่อเป็นร้านยาคุณภาพ แต่ความสนใจของร้านยาเดี่ยวที่มีเภสัชกรเป็นเจ้าของเองนั้นยังให้ความสนใจกันไม่มากนัก จนในที่สุดได้มีการตั้งเป้าเมื่อปีที่ผ่านมาว่า ในปี 2557 จะต้องมีร้านยาคุณภาพครบ 1,000 ร้าน ในขณะเดียวกันทีมสมาคมเภสัชกรรมชุมชนร่วมกับทีมสภาเภสัชกรรมและทีมสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกเยี่ยมพื้นที่กระตุ้นและชักชวนให้ร้านยาที่มีเภสัชกรเป็นเจ้าของให้เข้าร่วมโครงการร้านยาคุณภาพ โดยการชี้แจงให้เข้าใจว่าการเตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด เพียงปรับสิ่งที่มีหรือทำอยู่แล้วไม่มากนัก ขณะเดียวกันก็ประสานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ร้านยาคุณภาพ เข้าร่วมทำโครงการกับ สปสช การเพิ่มจำนวนร้านยาคุณภาพให้มากขึ้นและกระจายไปในทุกจังหวัดได้มากเพียงใดก็จะเป็นผลดีในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ในอดีต เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าร้านยาเป็นเสมือนด่านหน้าที่ประชาชนมาใช้บริการก่อนเมื่อเกิดการเจ็บป่วย เพราะเข้าถึงง่าย ใกล้บ้าน ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา มีเวลาพูดคุยปรึกษาเรื่องสุขภาพได้มาก ดังนั้นหากเภสัชกรที่ร้านยาให้บริการใกล้ชิดประชาชนและทำให้ผู้มาใช้บริการหรือสังคมโดยรวมเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธาได้มากเพียงใด ก็จะเป็นผลดีต่อวิชาชีพโดยรวมมากขึ้นเท่านั้น ดังที่เคยมีคนเปรียบเทียบว่าร้านยาเป็นเสมือนเรือธงของวิชาชีพ
ผ่านไป 12 ปี จากปี พ.ศ. 2546 มาถึง ปี พ.ศ. 2558 ขณะนี้มีร้านยาคุณภาพมากกว่า 1,000 ร้านแล้ว เราใช้เวลาพอสมควรที่จะพิสูจน์ให้สังคมโดยรวมเห็นว่าเรามีความตั้งใจจริงในการพัฒนาร้านยาให้เป็นสถานปฏิบัติวิชาชีพ โดยเฉพาะกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ละขั้นตอนที่ผ่านมากว่าจะได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารระดับสูงของ สปสช นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งการเปลี่ยนทัศนคติของเภสัชกรเองก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว ต้องขอบคุณเภสัชกรเจ้าของร้านยาทุกท่านที่เข้าใจเจตนารมณ์และเข้าร่วมโครงการ นับว่าท่านมีส่วนสนับสนุนและผลักดันให้ "ร้านยาคุณภาพ" เติบโตมาได้ขนาดนี้ เภสัชกรรุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจกับการทำงานในร้านยามากขึ้นกว่าเดิม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปนั่นเอง
การประเมินและรับรองคุณภาพร้านยาจึงเป็นเสมือนเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้น ส่งเสริมและสนับสนุนให้ร้านยาเกิดแรงจูงใจที่จะพัฒนาตนเองให้มีระบบการบริบาลทางเภสัชกรรมที่มีคุณภาพก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพ เป็นที่ยอมรับและเกิดความศรัทธาเชื่อถือจากประชาชนและสังคมโดยรวม