เกี่ยวกับสำนักงานรับรองคุณภาพร้านยา
ประวัติความเป็นมา

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง (๔) (ค) และ (ด) ประกอบกับมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. ๒๕๓๗ คณะกรรมการสภาเภสัชกรรม โดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษจึงออกข้อบังคับว่าด้วยการรับรองคุณภาพการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยา พ.ศ. ๒๕๕๘ . และให้ยกเลิกข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วยการรับรองคุณภาพการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยา พ.ศ. ๒๕๔๖ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นต้นไป ให้มีสำนักงานขึ้นในสภาเภสัชกรรม มีชื่อว่า สำนักงานรับรองคุณภาพร้านยามีชื่อย่อว่า สรร. ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Office of Pharmacy Accreditation (Thailand) ชื่อย่อว่า P.A. สำนักงานแห่งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นองค์กรที่จะประสานและดำเนินการเกี่ยวกับ การรับรองคุณภาพในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในการจ่ายยา การขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะและความพร้อมในการจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยา ให้สำนักงานมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ประสานและดำเนินการในการเยี่ยมประเมินและการรับรองคุณภาพร้านยา รวมถึง การพัฒนาสมรรถนะและความพร้อมในการจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยา
(๒) ดำเนินการกำหนดและปรับปรุงมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยา โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประเมินรับรองคุณภาพร้านยา และรวมถึงการพัฒนาสมรรถนะและความพร้อมในการจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยา
(๓) สรุปผลการเยี่ยมประเมิน และนำเสนอคณะกรรมการพิจารณารับรอง
(๔) พัฒนารูปแบบการประเมินรับรอง ให้เหมาะสมเป็นระยะ ๆ
(๕) ออกหนังสือเกียรติบัตรรับรองคุณภาพร้านยา ให้แก่ร้านยาที่ผ่านการรับรอง และรวมถึง หนังสือรับรองการพัฒนาสมรรถนะและความพร้อมในการจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยา
(๖) เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ รวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการรับรองคุณภาพร้านยา และการพัฒนาสมรรถนะและความพร้อมในการจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยา
(๗) การจัดประชุมทางวิชาการ การศึกษาต่อเนื่อง และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิด การปฏิบัติทางเภสัชกรรมที่ดีในร้านยา
(๘) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการขอรับการรับรองคุณภาพร้านยา และการรับรอง การพัฒนาสมรรถนะหรือความพร้อมของเภสัชกรในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยา โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม และออกเป็นประกาศสภาเภสัชกรรม
(๙) จัดหาทุนและผลประโยชน์อื่น ๆ เพื่อใช้ในกิจกรรมตามวัตถุประสงค์และหน้าที่ของสำนักงาน
(๑๐) กำหนดสมรรถนะ พัฒนาและขึ้นทะเบียนผู้เยี่ยมประเมิน ของสำนักงานในการเป็นผู้ประเมิน เพื่อการรับรองคุณภาพร้านยา
(๑๑) ออกระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ อำนาจและหน้าที่ของสำนักงาน
(๑๒) รายงานการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสำนักงานต่อสภาเภสัชกรรมรายไตรมาส และประจำปี หรือตามที่สภาเภสัชกรรมกำหนด
คณะกรรมการรับรองคุณภาพร้านยา

ให้ผู้อำนวยการสำนักงาน เสนอชื่อผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการคุณภาพ และการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยา เพื่อให้ คณะกรรมการสภาเภสัชกรรมพิจารณาให้ความเห็นชอบ เป็นประธานคณะกรรมการรับรองคุณภาพร้านยา คณะกรรมการประกอบด้วย

1. ผู้แทนจากคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม
2. ผู้แทนสำ นักงานคณะกรรมการอาหารและยา
3. นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)
4. ประธานชมรมเภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (ประเทศไทย)
5-7. ผู้แทนจากร้านยาคณะเภสัชศาสตร์
8.-12 ผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบ วิชาชีพในร้านยา หรือการรับรองคุณภาพร้านยาไม่เกินห้าคน
และมีผู้อำนวยการสำนักงานเป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้แทนจากสำนักงานที่ผู้อำนวยการมอบหมายเป็นผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการมีวาระคราวละสี่ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่ได้

มาตรฐานการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยา

มาตรฐานการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยา เป็นแนวทางการให้บริการ ทางเภสัชกรรมที่ดี ที่จะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการเข้ารับบริการที่ร้านยาจากผู้ประกอบวิชาชีพ เภสัชกรรม ว่าจะได้รับการดูแลความปลอดภัยจากการใช้ยาได้รับยาอย่างที่ถูกต้องเหมาะสม และได้รับข้อมูล เกี่ยวกับเรื่องยาที่เพียงพอ การให้บริการเภสัชกรรมที่ดีจะมีองค์ประกอบใน ๕ ประเด็น คือ

(๑) ด้านสถานที่ อุปกรณ์และสิ่งสนับสนุนบริการ ซึ่งจะกำหนดเกี่ยวกับลักษณะสถานที่ ที่เหมาะสมในการประกอบวิชาชีพ อุปกรณ์ เครื่องมือและสิ่งสนับสนุนการบริการที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ ในการช่วยให้การบริการเป็นไปอย่างถูกต้อง รวมถึงป้ายแสดงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและจำเป็นเพื่อให้ประชาชน มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการให้บริการเรื่องยาและของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
(๒) ด้านการบริหารจัดการเพื่อคุณภาพ ซึ่งจะกำหนดเกี่ยวกับระบบงานที่เกี่ยวข้องกับ การให้บริการที่ดี ทั้งการบริหารบุคคล การบริหารจัดการด้านยาและเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะเรื่องระบบ การบริหารความเสี่ยง และเอกสารด้านคุณภาพต่าง ๆ ที่จำเป็นในการบริการที่ดี
(๓) ด้านการบริการเภสัชกรรมที่ดี ซึ่งจะกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการที่จะทำให้การประกอบวิชาชีพที่ดี เป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม มีมาตรฐานที่ดี และเป็นหลักประกันให้กับผู้มารับบริการได้
(๔) ด้านการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบและจริยธรรมจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ซึ่งจะกำหนดถึง การดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพ และจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ เพื่อให้การประกอบวิชาชีพเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม
(๕) ด้านการมีส่วนร่วมในชุมชนและสังคม ซึ่งจะกำหนดเกี่ยวกับกิจกรรมที่ร้านยาจะมีส่วนร่วม ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมและสาธารณะ ร่วมกับชุมชนและท้องถิ่น ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ หรือเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคม
โดยมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในร้านยาตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีการปรับปรุงพัฒนา ไปตาไปตามสถานการณ์และการพัฒนาทางวิชาการและวิชาชีพในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้เป็นมาตรฐาน ที่เหมาะสมในการสร้างหลักประกันการบริการด้านยาแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ